“บ้านน้ำเชี่ยว” อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจของจังหวัดตราด

หากเอ่ยถึง “ตราด” จังหวัดที่ตั้งอยู่สุดเขตแดนภาคตะวันออกของไทยแล้วนั้น สถานที่ท่องเที่ยวที่คนทั่วไปนึกถึงก็คงไม่พ้นหาดทรายขาว น้ำทะเลสีใส ตามเกาะมีชื่อน้อยใหญ่ต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดตราดไม่ได้มีดีแค่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันสวยงามเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่รวมเอาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัวไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวนั้นมีชื่อว่า “บ้านน้ำเชี่ยว”

บ้านน้ำเชี่ยวตั้งอยู่ที่ ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด การเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้สามารถมาได้ทั้งรถประจำทาง และรถตู้ จากสถานีขนส่งหมอชิตหรือเอกมัย โดยมาลงที่สถานีขนส่งจังหวัดตราด จากนั้นต่อรถสายตราด – แหลมงอบ มาลงที่หมู่บ้านได้อย่างสะดวก หรือหากใครขับรถส่วนตัวมาเองก็เพียงแค่ขับออกมาจากตัวเมืองโดยใช้ถนนทางหลวงหมายเลข 3148 ใช้เวลาแค่ 10 นาที ก็ถึงหน้าหมู่บ้านได้อย่างง่ายดาย กระทั่งใครที่สะดวกนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินจังหวัดก็ทำได้เช่นเดียวกัน

บ้านน้ำเชี่ยวมีพื้นที่ตั้งอยู่ติดกับทะเล มีแนวกำแพงธรรมชาติอย่างป่าชายเลนที่คนในหมู่บ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ที่มาของคำว่า “น้ำเชี่ยว” อันเป็นชื่อชุมชนเกิดจากในฤดูน้ำหลากน้ำในคลองขนาดใหญ่ที่ไหลผ่านหมู่บ้านค่อนข้างไหลอย่างเชี่ยวกรากนั่นเอง ชุมชนแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ชุมชน 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม” เนื่องด้วยผู้คนในชุมชนมีทั้งที่คนที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลาม ตลอดจนบรรพบุรุษของคนในชุมชนนี้มีทั้งเชื้อสายไทย จีน และมุสลิมแขกจาม ส่งผลให้ในชุมชนมีสถานที่ทางศาสนาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัดไทย ศาลเจ้า หรือมัสยิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นี่มี “มัสยิดอัลกุบรอ” ซึ่งเป็นมัสยิดแห่งแรกของภาคตะวันออกที่เก่าแก่และมีอายุกว่า 200 ปี

การพักค้างคืนที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวนั้น ทำได้โดยการพักโฮมสเตย์ แต่ไม่ใช่ว่านักท่องเที่ยวอยากจะมาพักบ้านหลังไหนในชุมชนก็ทำได้เลย เนื่องจากที่นี่เป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ที่เกิดจากการรวมกลุ่มคนในชุมชน ทำให้ลักษณะการให้บริการเน้นไปที่การขายวิถีชีวิตชุมชน ทางคณะกรรมการไม่ต้องการให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างคนในชุมชน ดังนั้นนักท่องเที่ยวท่านใดที่อยากมาพักค้างคืนที่นี่จึงต้องทำการจองผ่านส่วนกลาง เพื่อที่ส่วนกลางจะได้จัดสรรนักท่องเที่ยวไปตามบ้านของชาวบ้านแต่ละคนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน

กิจกรรมภายในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวแห่งนี้มีมากมายหลากหลาย อาทิ การเดินชมวิถีชีวิตของคนในชุมชน การเดินข้ามสะพานสูง หรือที่เรียกกันว่า “สะพานวัดใจ” และเหตุที่ต้องทำสะพานสูงมาก ๆ ก็เนื่องจากเพื่อให้เรือประมงของชาวบ้านแล่นผ่านไปได้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเด็ด ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการพายเรือคายัค การงมหอยปากเป็ด การช่วยกันปลูกป่าชายเลน การดูการดำเนินชีวิตของเหยี่ยวแดงคอขาวและลิงแสม การเรียนรู้การทำข้าวเกรียบยาหน้าอันเป็นขนมสูตรดั้งเดิมของชาวมุสลิมชาวกัมปงจาม การเรียนรู้การสานงอบจากใบจากอันเป็นหัตถกรรมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ การร่วมชมการแสดงลิเกฮูลูจากเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน เป็นต้น

และนอกจากสาระความรู้ความบันเทิงที่จะได้จากการท่องเที่ยวชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวแห่งนี้ที่การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนแล้วนั้น สิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้ดีไม่แพ้กันนั่นคือรสชาติอาหารของที่นี่ ที่ทั้งสด สะอาด และอร่อย เรียกได้ว่าถ้าใครไม่ระวังน้ำหนักอาจจะขึ้นพรวดพราดได้โดยไม่ทันรู้ตัว

อย่างไรก็ตามมนต์เสน่ห์ของที่นี่ นอกจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด สิ่งสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวคนแล้วคนเล่าวนกลับมาพักที่นี่อีกครั้งก็เห็นจะหนีไม่พ้นความมีน้ำใจ ความเป็นกันเองของคนในชุมชน เรียกว่าดูแลดุจญาติมิตร สมดังสโลแกนของชาวบ้านในชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวแห่งนี้ที่ว่า “ท่านมาเราดีใจ ท่านจากไปเราคิดถึง”

 

Related Post

One Day Trip ณ ลพบุรี ง่ายนิดเดียวOne Day Trip ณ ลพบุรี ง่ายนิดเดียว

“ลพบุรี” เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย โดยมีแม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านจัดหวัด คือ แม่น้ำลพบุรี ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม และที่ราบสลับเนินเขา มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ประชากรส่วนใหญ่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม เนื่องจากพื้นที่มีความเหมาะสม แต่ในปัจจุบันลพบุรีกำลังถูกพัฒนาเศรษฐกิจในด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในตัวเมืองลพบุรีสามารถทำได้ง่าย ๆ หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ส่วนตัว รถตู้โดยสาร หรือรถไฟ ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนอยากแนะนำผู้อ่านให้ลองไปเที่ยวตัวเมืองลพบุรีแบบ One Day Trip ด้วยรถไฟและรถตู้โดยสารกันสักครั้ง หากออกเดินทางจากกรุงเทพฯ รถไฟที่จะพาท่านเดินทางไปยังลพบุรีในรอบเช้าช่วงที่เหมาะสมมากที่สุดมีด้วยกัน 2 รอบคือ รถไฟขบวนที่ 111 และขบวนที่ 7

ไม่เก่า แต่ เก๋าอยู่ “บึงกาฬ” แดนพญานาค ถิ่นภูเขาหินไม่เก่า แต่ เก๋าอยู่ “บึงกาฬ” แดนพญานาค ถิ่นภูเขาหิน

การสร้างแผนการเดินทางสักที่หนึ่ง แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเดินทางตามกระแสสังคม แต่อีกส่วนหนึ่งเลือกเดินทางตามอุดมคติที่ตนเองชอบ ซึ่งเราเป็นหนึ่งในนั้นโดยคีย์ของแผนท่องเที่ยวที่วางไว้คือ ที่ที่มันสุดยอดสำหรับเรา จริง ๆ มันก็ทั้ง 77 จังหวัดนั้นแหล่ะ เพียงแต่วัดกันที่ความเหมาะสมของวันเวลาและอารมณ์ในการเลือกสถานที่ที่จะไปเท่านั้น เราเชื่อว่าสิ่งมหัศจรรย์ในบ้านเกิดเราเองยังมีอีกเยอะ ชั่วชีวิตนี้อาจเที่ยวไม่ครบก็เป็นได้ ในครั้งนี้การเดินทางของเราจะนำทุกคนไปยัง จังหวัดที่แยกตัวเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทยในปี 2554, จังหวัดที่อยู่บนสุดของภาคอีสานระยะทางวัดจากกรุงเทพมหานครประมาณ 765 กิโลเมตร, จังหวัดที่มีสะดือแม่น้ำโขง, จังหวัดที่ผู้คนศรัทธาในพญานาค, และจังหวัดที่มีสัตว์ทะเลอยู่บนบก ที่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อยู่ในจังหวัดเดียวกัน จังหวัดบึงกาฬ บึงกาฬเป็นจังหวัดน้องใหม่ ที่มีฝีมือทางการท่องเที่ยวไม่น้อยหน้าจังหวัดอื่น ด้วยพื้นที่เอื้ออำนวย

เที่ยวชมประเพณี แสงสีเทศกาลทั่วไทยเที่ยวชมประเพณี แสงสีเทศกาลทั่วไทย

ในไทยนั้นมีตั้งมากมายหลายจังหวัด แต่ละพื้นที่ก็จะประกอบไปด้วยประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป หากไม่รู้จะไปเที่ยวไหนแล้ว ขอแนะนำให้ลองไปเที่ยวตามประเพณีและวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัด จะได้สัมผัสวิถีชีวิตและพิธีต่าง ๆ ที่บอกเล่าความเป็นตัวจังหวัดนั้น ๆ ได้ดีเลยล่ะ ลองมาดูกันว่าจังหวัดไหนมีอะไรกันบ้าง ยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก เป็นงานประเพณีที่จัดประจำแทบทุกปี โดยจะมีกิจกรรมหลากหลายมากมายในงาน ทั้งการแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านแสง สี เสียง ท่ามกลางสถานที่ฉากหลังที่เป็นวัดเก่าโบราณ มีทั้งส่วนของตลาดย้อนยุคที่ต้องแลกเงินบาทเป็นพดด้วงเพื่อซื้อขายของกินในงาน นอกจากนี้ยังมีงาน OTOP และมีงานกาชาดให้ได้เสี่ยงดวงลุ้นของรางวัลกลับบ้านอีกด้วย หลาย ๆ มุมก็จะมีโซนจัดการแสดงหลากหลายเรื่องราว โดยตัวงานจะมีตลาดให้เดินตลอดทั้งงาน เหมาะกับการไปเดินเล่นสบาย ๆ และยังได้ชมประวัติศาสตร์รอบข้างอีก โดยปกติแล้วงานนี้จะจัดในช่วงเดือนธันวาคม